การยึดครองของชาวมุสลิมและการพิชิตดินแดนคืน (คริสต์ศตวรรษที่ 8-15) ของ ประวัติศาสตร์สเปน

ดูบทความหลักที่: อัลอันดะลุส
ดูบทความหลักที่: การพิชิตดินแดนคืน
เมซกีตา (Mezquita) เมืองกอร์โดบา ในสมัยมุสลิมเคยเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่ปัจจุบันเป็นมหาวิหารในศาสนาคริสต์

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวอาหรับและชาวเบอร์เบอร์ซึ่งปกครองตอนเหนือของแอฟริกาอยู่ในขณะนั้น (เรียกว่าชาวมัวร์) ได้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ก่อนแล้ว และได้ส่งฏอริก อิบน์ ซิยาด นายพลชาวเบอร์เบอร์เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองในฮิสปาเนีย โดยบุกเข้ามาทางภาคใต้ จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 711 ก็ได้เผชิญหน้ากับกองทัพของพระเจ้าโรเดอริกในยุทธการที่แม่น้ำกวาดาเลเต ซึ่งแม้ตอริกจะมีกำลังทหารน้อยกว่าก็ตามแต่ก็ได้รับชัยชนะ ณ ที่นั้น (เชื่อกันว่าพระเจ้าโรเดอริกสิ้นพระชนม์ในที่รบ[37]) จากนั้น มูซา อิบน์ นุศ็อยร์ ผู้บังคับบัญชาของฏอริกพร้อมกำลังสนับสนุนได้ข้ามจากแอฟริกาเข้ารุกรานฮิสปาเนียอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเมื่อ ค.ศ. 718 ชาวมุสลิมก็มีอำนาจครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร [เรียกชื่อดินแดนฮิสปาเนียส่วนที่ชาวมุสลิมครอบครองว่า "อัลอันดะลุส" (Al-Andalus)] เหลือเพียงอาณาจักรคริสต์ที่อัสตูเรียส กันตาเบรีย และบาสก์ซึ่งต้านกำลังมุสลิมไว้ได้และเริ่มการพิชิตดินแดนคืน (Reconquista) หลังมีชัยในยุทธการที่หมู่บ้านโกบาดองกาเมื่อปี ค.ศ. 722 นอกจากนี้ การรุกคืบในยุโรปก็ถูกชาวแฟรงก์ภายใต้การนำทัพของชาร์ล มาร์แตลสกัดกั้นไว้ได้ในยุทธการที่เมืองปัวตีเย เดือนตุลาคม ค.ศ. 732[38]

ผู้ปกครองของอัลอันดะลุสมีตำแหน่งอยู่ระดับเอมีร์ โดยขึ้นกับกาหลิบอัลวะลีดที่ 1 แห่งราชวงศ์อุไมยัดที่กรุงดามัสกัส พระองค์ทรงให้ความสนใจกับการขยายกำลังทางทหารอย่างมาก ทรงสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในสมัยของราชวงศ์นี้ ซึ่งเป็นกลวิธีที่สนับสนุนการขยายอิทธิพลในฮิสปาเนียนั่นเอง ขุนนางท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ครอบครองทรัพย์สินและสถานะทางสังคมของตนไว้ตราบเท่าที่ยังยอมรับศาสนาอิสลาม และการเปลี่ยนผู้ปกครองไม่ได้รบกวนกิจประจำวันของพวกเขามากนัก เขตการปกครองย่อยตามพื้นที่ต่าง ๆ ยังเป็นเช่นเดิม แต่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นจะตกเป็นของชาวมุสลิมอาหรับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมถูกบังคับให้ยอมรับกฎหมายไม่เป็นธรรมซึ่งส่งเสริมสถานะของศาสนาอิสลามให้อยู่เหนือศาสนาคริสต์และศาสนายิวในสังคม จึงมีชาวคริสต์จำนวนหนึ่งในอัลอันดะลุสเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามโดยหวังจะได้รับสิทธิในสังคมเท่าเทียมกับชาวมุสลิม เช่น จ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องเป็นทาสหรือข้าติดที่ดินอีกต่อไป ซึ่งเรียกพวกนี้ว่า "มูลาดีเอส"

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 750 ราชวงศ์อุไมยัดก็ถูกราชวงศ์อับบาซิดจากกรุงแบกแดดขับลงจากอำนาจ กลุ่มผู้นำที่หลงเหลืออยู่ซึ่งมีเจ้าชายอับดุรเราะฮ์มานเป็นผู้นำได้หลบหนีมาที่ไอบีเรียและท้าทายอำนาจของราชวงศ์อับบาซิดด้วยการประกาศให้กอร์โดบาเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ อัลอันดะลุสจึงประสบความขัดแย้งทั้งภายในหมู่ชาวอาหรับด้วยกันเองและกับชาววิซิกอท-โรมัน (ชาวคริสต์) ที่ยังอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย กองทัพเรือกองแรกของอัลอันดะลุสได้รับการจัดตั้งขึ้นหลังจากที่พวกไวกิงล่องเข้ามาถึงแม่น้ำกวาดัลกีบีร์และปล้นเมืองเซบิยาเมื่อปี ค.ศ. 844[39]


ล่วงมาถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 10 เจ้าชายอับดุรเราะฮ์มานที่ 3 ก็ได้จัดตั้งอาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบา (Caliphate of Córdoba; Califato de Córdoba) ขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสัมพันธ์กับกาหลิบแห่งแบกแดดอย่างสิ้นเชิง กอร์โดบาพยายามรักษาฐานกำลังในแอฟริกาเหนือไว้ แต่ในที่สุดก็เหลือเพียงดินแดนบริเวณรอบ ๆ เซวตาเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ชาวคริสต์ก็เริ่มอพยพเข้าไปสู่ภาคเหนือของคาบสมุทรอย่างช้า ๆ นับเป็นการเพิ่มกำลังให้กับบรรดาอาณาจักรคริสต์ [เช่น เคาน์ตีกัสติยา ราชอาณาจักรเลออน (อัสตูเรียสเดิม) และราชอาณาจักรนาวาร์ (บาสก์เดิม)] ยิ่งขึ้นด้วย แต่ถึงกระนั้น อัลอันดะลุสก็ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอาณาจักรคริสต์เหล่านั้นอยู่มากทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และกำลังทหาร รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรคริสต์เองก็ทำให้อัลอันดะลุสยังปลอดภัยอยู่บ้าง

อาณาจักรมุสลิมในไอบีเรียกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งประมาณปี ค.ศ. 1000 เมื่ออัลมันซูร์พิชิตบาร์เซโลนาได้เมื่อปี ค.ศ. 985[40] และต่อมาเมืองคริสต์อื่น ๆ ก็ถูกชาวมุสลิมเข้าจู่โจมอีกหลายครั้ง[41] แต่หลังจากสมัยของโอรสของอัลมันซูร์ไป ก็เกิดสงครามกลางเมือง จนทำให้ในปี ค.ศ. 1031[42] อาณาจักรกาหลิบแห่งนี้ต้องแตกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ กว่า 40 แห่ง รวมเรียกว่า กลุ่มอาณาจักรไตฟา (Taifas) ผู้ปกครองของแต่ละอาณาจักรนี้ก็แข่งขันกันเองไม่เพียงแต่ในการสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปกป้องคุ้มครองศิลปะอีกด้วย ทำให้วัฒนธรรมมุสลิมรุ่งเรืองขึ้นอีกในช่วงสั้น ๆ

เขตแดนของราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนในปี ค.ศ. 1210

อย่างไรก็ตาม ไตฟาแต่ละแห่งค่อย ๆ สูญเสียดินแดนให้กับราชอาณาจักรคริสต์ทางเหนือ เอมีร์หรือผู้ปกครองชาวมุสลิมของไตฟาจึงไปขอความช่วยเหลือจากดินแดนภายนอกถึง 2 ครั้ง คือ จากราชวงศ์อัลโมราวิด หลังจากที่เสียโตเลโดไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085[43] และจากราชวงศ์อัลโมฮัด (ซึ่งมีอำนาจขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์อัลโมราวิด) หลังจากเสียลิสบอนไปเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1147[44] ซึ่งอันที่จริงนักรบเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียเพราะต้องการช่วยเหลือบรรดาเอมีร์ แต่ต้องการผนวกอาณาจักรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของตนในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ

เมื่อกลุ่มของราชวงศ์อัลโมฮัดได้ครอบครองชายฝั่งแอฟริกาเหนือและอัลอันดะลุสซึ่งเคยเป็นของราชวงศ์อัลโมราวิดแล้ว ได้ย้ายศูนย์กลางของอัลอันดะลุสจากกอร์โดบาไปอยู่ที่เซบิยาในปี ค.ศ. 1170[45] และจัดการกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนของตนอย่างรุนแรง เมื่อต้องเลือกว่าจะตายหรือจะยอมเปลี่ยนศาสนา ชาวยิวและชาวคริสต์จำนวนมากจึงตัดสินใจอพยพออกไปจากอัลอันดะลุส[46] บางส่วนหนีขึ้นเหนือเพื่อไปตั้งหลักในอาณาจักรคริสต์ซึ่งก็เริ่มมีชัยชนะในดินแดนทางใต้มากขึ้นในขณะที่จักรวรรดิอัลโมฮัดไม่ได้ต่อต้านอย่างสม่ำเสมอ ในการรบครั้งสำคัญที่หมู่บ้านลัสนาบัสเดโตโลซา ค.ศ. 1212[47] กองทัพอัลโมฮัดได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพชาวคริสต์ซึ่งเป็นพันธมิตรระหว่างราชอาณาจักรกัสติยา นาวาร์ อารากอน เลออน[47] และโปรตุเกส จนกระทั่งเมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวมุสลิมก็เสียกอร์โดบาและเซบิยาไป เหลือกรานาดาซึ่งปกครองโดยราชวงศ์นาสริดเป็นที่มั่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...